"วันครอบครัว" วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นอีกวันสำคัญในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความรัก ความอบอุ่น และความสุขในครอบครัวมากที่สุด

กิจกรรมวันครอบครัวในเทศกาลสงกรานต์
    วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นอีกวันสำคัญในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ถูกกำหนดให้เป็น “วันครอบครัว” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความรัก ความอบอุ่น และความสุขในครอบครัวมากที่สุด เพราะสถาบันครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของคุณภาพชีวิตของผู้คน ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขก็ถือว่าเป็นความเข้มแข็งของชุมชน หมู่บ้าน สังคมด้วยเช่นกัน โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำหนดจัดงานวันครอบครัว ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “ผู้สูงวัย ศูนย์รวมใจของครอบครัว” นอกจานี้ ยังมีแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (2566-2570) โดยหนึ่งในนั้น คือเสริมสร้างสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง  สามารถพึ่งพาตนเองได้ ประกอบด้วย 4 เรื่อง ได้แก่ 
1.    พัฒนาศักยภาพคนและสร้างความเข้มแข็งของสถาบัน ครอบครัวอย่างยั่งยืน 
2.    สร้างโอกาสและยกระดับการคุ้มครองทางสังคมสำหรับคนทุกช่วงวัย 
3.    พัฒนาทุนทางสังคม สร้างการมีส่วนร่วม เสริมเศรษฐกิจฐานราก สู่การเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน
4.    มุ่งพัฒนาองค์กรให้มีสมรรถนะและผลสัมฤทธิ์สูงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล
ที่มาวันครอบครัว 
สืบเนื่องจากคนไทยสมัยก่อนจะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ลักษณะเป็นครอบครัวขยาย ประกอบด้วย พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ รวมกันอยู่ในบริเวณบ้านเดียวกัน แต่ด้วยวิถีชีวิตของครอบครัวในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก สมาชิกในครอบครัวต่างต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพ ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2532 คณะรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น เป็นผู้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และอนุมัติให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็น “วันครอบครัว” ซึ่งตรงกับเทศกาลสงกรานต์ของไทย ส่วนใหญ่เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดยสะดวก จึงให้ถือโอกาสเดียวกันนี้เป็นวันแห่งการรวมญาติ รวมครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการี รดน้ำดำหัว ตลอดจนการขอพรผู้ใหญ่ตามประเพณีไทยที่เคยปฏิบัติกันมา เพื่อให้ลูกหลานได้ซึมซับวัฒนธรรมที่ดี และส่งต่อถ่ายทอดไปสู่รุ่นถัดไป
ผลโพลตอกย้ำความสำคัญ วันสงกรานต์และวันครอบครัว
กระทรวงวัฒนธรรม สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชนที่มีต่อ “ประเพณีสงกรานต์ ปี 2567 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 18,623 คน ครอบคลุมทุกภูมิภาค ผลสรุปประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าประเพณีสงกรานต์มีความสำคัญ 
•    ร้อยละ 71.22 เป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย 
•    ร้อยละ 69.48 เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาอย่างชัดเจนสืบทอดต่อกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ เป็นความงดงาม ซึ่งบ่งบอกถึงคุณลักษณะของความเป็นไทย เช่น ความกตัญญู ความโอบอ้อมอารี ความเอื้ออาทร ความสนุกสนานร่าเริง 
•    ร้อยละ 59.75 เป็นวันครอบครัว เพราะเห็นว่าช่วงดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับไปหาครอบครัว จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความรัก ความอบอุ่น ที่จะได้พบกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา และทำกิจกรรมร่วมกัน
กิจกรรมในวันครอบครัว
1. จัดนิทรรศการเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ ความเข้าใจในบทบาท หน้าที่ ของสมาชิกในครอบครัว
2. จัดมอบรางวัลให้สำหรับครอบครัวดีเด่น เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครอบครัวที่ทำคุณประโยชน์แก่สังคม และประเทศชาติ
การสร้างครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง
1) กำหนดเวลาพบกันและกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำในครอบครัว เช่น ทานข้าวร่วมกันทุกวันอาทิตย์ ไปเที่ยวด้วยกันเดือนละครั้ง ฯลฯ 
2) สร้างพื้นที่พูดคุยกันโดยไม่ทะเลาะกัน ทำให้ทุกคนในครอบครัวสามารถพูดคุยกันได้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ 
3) สร้างประเพณีในครอบครัว เช่น การไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกันปีละครั้ง จัดงานวันเกิดร่วมกัน รดน้ำสงกรานต์พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่พร้อมกัน เป็นต้น
4) แบ่งงานบ้านให้ลูกแต่ละคนรับผิดชอบ เช่น ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหาร เป็นต้น
5) สร้างคุณค่าของครอบครัวตัวเอง เช่น ความรักพี่รักน้อง ความเสียสละและการช่วยเหลือกัน
6) การแสดงความรักและการชื่นชมต่อกัน เช่น การรู้จักพูดคำว่า “ขอบคุณ ขอโทษ” ต่อกัน 
7) การส่งเสริมให้คนในครอบครัวเป็นตัวของตัวเอง เช่น การเคารพความคิดและการกระทำของกันและกัน สนับสนุนให้ทุกคนกล้าแสดงความคิดเห็นของตนเองโดยไม่ตัดสินว่าถูกหรือผิด เป็นต้น
 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
ชื่อ widget
 
 

ตัวอย่างใส่อะไรก็ได้ลงไป text , รูป ,วีดิโอ